ถอดรหัสปัญหาระบบสุขภาพ สู่การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ด้วย Public Health Pain-Points (PPP)
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม การมีภาระโรคและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพของประเทศ คณะผู้วิจัยจึงพัฒนา “เครื่องมือในการคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์” เพื่อใช้จัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพให้สอดคล้องความต้องการของระบบสาธารณสุข โดยวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในปีพ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2564 จากฐานข้อมูล สปสช. ซึ่งพิจารณาภาระค่าใช้จ่าย ภาระทางสุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ การวิเคราะห์นี้ช่วยระบุโรคหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัญหาวิกฤติของระบบสุขภาพไทย และสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนา หรือสนับสนุนต่อยอดนวัตกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อแก้ไขและลดภาระของระบบสุขภาพของประเทศได้
วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
คณะผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ภาระค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข โดยอาศัยข้อมูลภาระโรครายกลุ่มโรค (ตารางที่ 1) ตาม Global Burden of Disease Study 2017 (GBD 2017) และจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ่โดยแปลงให้อยู่ในหน่วยปีสุขภาวะที่สูญเสียไป (Disability-Adjusted Life Years: DALYs) เพื่อแสดงให้เห็นช่องว่างทางสุขภาพ (health gap) ซึ่งคำนวณจากปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร (Years of Life Lost due to premature mortality: YLLs) รวมกับจำนวนปีสุขภาวะที่มีชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางสุขภาพ (Years of Life Lost due to Disability: YLDs) จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งจำแนกโรคตามรหัส International Classification of Diseases 10th Revision (ICD-10) นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้เปรียบเทียบรายการนวัตกรรมด้านสุขภาพในบัญชีนวัตกรรมตามรายกลุ่มโรค ทั้งนวัตกรรมที่เบิกจ่ายได้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนวัตกรรมที่ยังไม่ได้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์

ภาระค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขของประเทศโดยสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (แกนตั้ง) เปรียบเทียบกับภาระทางสุขภาพรายกลุ่มโรคหลัก (แกนนอน) และจำนวนนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมที่สามารถเบิกจ่ายได้ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (ขนาดจุด) โดยกลุ่มโรคที่มีผลกระทบสูงทั้งด้านงบประมาณและภาระสุขภาพ สะท้อนถึงกลุ่มโรคที่ควรให้ความสำคัญ รวมถึงช่องว่างของระบบสุขภาพที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน
ตารางที่ 1 กลุ่มโรคหลัก
อักษรย่อ (Abbreviation) | กลุ่มโรค (Disease category) |
A | การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (HIV/AIDS and sexually transmitted infections) |
B | การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และวัณโรค (Respiratory infections and tuberculosis) |
C | การติดเชื้อในลำไส้ (Enteric infections) |
D | โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและมาลาเรีย (Neglected tropical diseases and malaria) |
E | กลุ่มโรคติดเชื้ออื่น ๆ (Other infectious diseases) |
F | ความผิดปกติของมารดาและทารกแรกเกิด (Maternal and neonatal disorders) |
G | ภาวะโภชนาการบกพร่อง (Nutritional deficiencies) |
H | โรคมะเร็งและเนื้องอก (Neoplasms) |
I | โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) |
J | โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic respiratory diseases) |
K | ความผิดปกติทางระบบย่อยอาหาร (Digestive diseases) |
L | ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological disorders) |
M | ความผิดปกติทางจิต (Mental disorders) |
N | ความผิดปกติที่เป็นผลจากการใช้สารเสพติด (Substance use disorders) |
O | โรคเบาหวานและโรคไต (Diabetes and kidney diseases) |
P | โรคผิวหนังและโรคใต้ผิวหนัง (Skin and subcutaneous diseases) |
Q | ความผิดปกติทางการรับรู้ (Sense organ diseases) |
R | ความผิดปกติทางกระดูกและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal disorders) |
S | โรคไม่ติดต่ออื่น ๆ (Other non-communicable diseases) |
ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ (modifiable risk clusters) ใช้การประเมินค่าใช้จ่ายของโรคที่อิงตามความชุกของโรค (Prevalence-based Cost-of-Illness Approach) พิจารณาทั้งค่าใช้จ่ายโดยตรง (ค่ารักษาผู้ป่วยใน) และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงาน) ข้อมูลในปี พ.ศ. 2562 แบ่งปัจจัยเสี่ยงเป็น 3 กลุ่มตาม Global Burden of Disease 2019 (GBD 2019) ประกอบด้วย
- ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม (Behavioral risks) ได้แก่ การใช้ยาสูบ ความเสี่ยงด้านโภชนาการ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การมีกิจกรรมทางกายต่ำ การล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กและการถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรงจากคู่รัก
- ปัจจัยเสี่ยงด้านเมตาบอลิก (Metabolic risks) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายสูง ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง ความผิดปกติของไต และคอเลสเตอรอลสูง
- ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการทำงาน (Environmental and occupational risks) ได้แก่ มลพิษทางอากาศ น้ำ การสุขาภิบาล และการล้างมือที่ไม่สะอาดเพียงพอ ความเสี่ยงจากการทำงานโดยตรง อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม และความเสี่ยงอื่น ๆ จากสิ่งแวดล้อม
สัดส่วนประชากรที่สัมพันธ์กับโรค (Population Attributable Fraction: PAF) ที่ใช้ในการประมาณการภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากแต่ละปัจจัย แสดงสัดส่วนของการเกิดโรคที่อาจป้องกันได้หากกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ โดยนำข้อมูลค่า PAF ที่จำเพาะตามอายุและเพศของประเทศไทยจาก Global Health Data Exchange GBD Results Tool ซึ่งใช้การจำแนกโรคตามรหัส ICD-10
จากนั้นนำข้อมูลภาระโรครายกลุ่มโรคและข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้มาวิเคราะห์ร่วมกับอัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยจากฐานข้อมูลเบิกจ่ายผู้ป่วยใน (e-claim) ปี พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2564 จากฐานข้อมูลของ สปสช.
ข้อค้นพบ
- กลุ่มโรคสำคัญที่มีผลกระทบทั้งทางงบประมาณและทางสุขภาพสูง ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงสุดและเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มโรคมะเร็งและเนื้องอก และกลุ่มโรคเบาหวานและโรคไต ตามลำดับ
- ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ที่มีผลกระทบสูงสุด ได้แก่ การบริโภคยาสูบ การบริโภคเนื้อสัตว์สีแดง อาหารที่มีปริมาณเกลือหรือน้ำตาลสูง และการบริโภคแอลกอฮอล์

- การจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรม ควรมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนนวัตกรรมหรือมาตราการทางสแพทย์และสุขภานที่ส่งเสริมการป้องกัน การลดพฤติกรรมความเสี่ยงและการรักษาโรคที่เป็นภาระสูงของระบบสุขภาพเพื่อลดต้นทุนการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
- หน่วยงานสนับสนุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ แหล่งทุน และผู้ลงทุนควรมีนโยบายริเริ่มและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยลดภาระโรคและค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยให้ความสำคัญกับโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและเนื้องอก รวมถึงโรคเบาหวานและโรคไต ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบสูงต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย ทั้งในด้านภาระโรคและค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพ
- การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพควรดำเนินการบนพื้นฐานของการจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการของระบบสาธารณสุข เพื่อให้สามารถเติมเต็มช่องว่างในการให้บริการทางการแพทย์และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อระบบสุขภาพ
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพอย่างเป็นระบบ ควบคุมปัจจัยเสี่ยง และสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืนในระยะยาว
หมายเหตุ
การศึกษานี้ใช้เฉพาะข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยในจาก สปสช. ในปี พ.ศ. 2559 – 2564 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมข้อมูลผู้ป่วยนอก ค่าใช้จ่ายจากระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และสถานพยาบาลเอกชน รวมถึงไม่ได้พิจารณาบริบทในระดับภูมิภาค
สนับสนุนโดย








นักวิจัย

